สวัสดีค่า
ครั้งนี้ก็จะมาพูดถึงเกี่ยวกับทฤษฎีในการสอนภาษาที่สองค่ะ
ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีการสอนภาษาที่สอง ก็มีหลาย ๆ แบบมากมาย ซึ่งที่เรียนในคลาส APP JP LIN ก็ได้แบ่งเป็น 8 อย่างค่ะ ทั้งนี้ในวันนี้เราจะมาพูดถึงแนวทางการสอนที่เน้นฟังและอ่านให้มาก ซึ่งก็คือแนวทางที่เน้นการ input ให้ผู้เรียน
คำว่า input พอพูดแล้วบางคนอาจจะนึกไปถึงศัพท์ทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นได้ แต่คิดอย่างนั้นก็ไม่ผิดนะคะ เพราะ input ก็คือการป้อนข้อมูลเข้าไปค่ะ
ที่นี้การ input สำคัญต่อการเรียบการสอนภาษายังไงก็มาดูกันค่ะ
แนวการสอนที่เน้น input นี้ มีแนวคิดมาจาก Input Hypothesis (インプット仮説)หรือเรียกอีกอย่างว่า monitor modal ที่นำเสนอโดย Stephen Krashen (อ้างอิงจาก wikipedia คุณเค้าเป็นนักภาษาศาสตร์ นักวิจัยทางด้านการศึกษาและเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองด้วยค่ะ ว้าวซ่า)
คุณลุงคนนี้เอง
โดย Krashen ได้นำเสนอทฤษฎีการรับภาษาที่สองที่มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน อันได้แก่
1. language learning hypothesis
Acquisition กับ learning แตกต่างกัน—Acquisition คือการรับภาษาแบบไม่รู้ตัว หรือเกิดในระดับจิตใต้สำนึก ผู้เรียนจะรับภาษาหรือเรียนรู้ภาษาทางด้านความหมายได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับการรับภาษาแม่ของเด็ก ส่วน Learning คือการเรียนภาษาหรือรูปไวยากรณ์ของภาษานั้นแบบตั้งใจ
2. monitor hypothesis
ผู้เรียนจะตรวจสอบภาษาของตนโดยเจตนา เมื่ออยู่ในสภาวะที่ตรงตามเงื่อนไข (เช่น 1.ผู้เรียนมีเวลาเพียงพอ 2.ผู้เรียนหันความสนใจไปที่ไวยากรณ์มากกว่าความหมาย 3.ผู้เรียนเรียนรู้และเข้าใจกฏไวยากรณ์ที่ถูกต้อง) และจะเกิดความเข้าใจในภาษามากยิ่งขึ้น
3. natural order hypothesis
การเรียนรู้ภาษาที่สอง หรือการเรียนรู้ไวยากรณ์รูปใดรูปหนึ่ง จะมีลำดับการเรียนรู้ที่เป็นสากล โดยลำดับดังกล่าวสามารถคาดเดาผ่านการวิจัยได้
4. input hypothesis
การรับข้อมูลภาษาผ่านการฟังและการอ่านมีความสำคัญต่อการรับภาษา แต่ก็มิใช่ว่าข้อมูลหรือ input ทุกประเภทจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ input ที่ดีต้องเข้าใจได้(comprehensible input) และมีจำนวนมาก(lots of input)
5. affective filter hypothesis
การเรียนรู้จะส่งผลได้ดีเมื่อผู้เรียนมีแรงจูงใจและอยู่ในสภาพที่มีความวิตกกังวลต่ำ สภาพจิตใจที่ขาดแรงจูงใจหรือมีความวิตกกังวลก็จะเหมือนกันว่ามี affective filter หรือก็คือตัวบล็อคทางจิตใจ (mental block) ซึ่งเป็นอุปสรรคทางการเรียนรู้ ก็คือถ้าหากมี affective filter น้อยผู้เรียนจะสามารถรับข้อมูลได้ดีกว่า แต่ถ้ามีมากก็ส่งผลให้รับข้อมูลได้น้อยลง
ก่อนที่เราจะมาพูดถึงว่าแนวทางการสอนที่ based on input hypothesis มีอะไรกันบ้างก็จะขอขยาย input ที่เหมาะสมแก่การเรียนภาษาที่สองอีกสักนิดนึงนะคะ
ลักษณะของ input ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้จะเป็นดังนี้
①. Comprehensible Input
input ที่เข้าใจได้ คือ input ที่มีระดับสูงกว่าระดับภาษาของผู้เรียน 1 ระดับ หรือเรียกว่า i+1 โดย i หมายถึงระดับความสามารถในปัจจุบันของผู้เรียน Krashen เชื่อว่าการรับภาษาจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนเข้าใจ input ในระดับที่เหมาะสม ถ้าหากยากเกินไปผู้เรียนจะไม่เข้าใจไม่นำไปสู่การเรียนรู้ แต่ถ้าง่ายเกินไปก็ไม่นำไปสู่การเรียนรู้เหมือนกัน (หนักไม่เอาเบาก็ไม่เอาจ้า)
②. Lots of inputs
หมายถึง input ที่มีคุณภาพหรือเข้าใจได้ในปริมาณที่มากนั่นเอง
----------
เอาล่ะ ก็มาพูดแนวทางการสอนที่ based on input hypothesis กันค่ะ!
1. Immersion Program
เป็นวิธีการสอนที่ใช้ L2(ภาษาที่สอง) ในการสอนวิชาเนื้อหา เช่น คณิต วิทย์ สังคม ต่างๆ โดยเชื่อว่าว่าถ้าผู้เรียนได้ input ภาษาที่สองผ่านการสอนเนื้อหาจะทำให้ได้รับ input จำนวนมากซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภาษาที่สอง
สำหรับโรงเรียนที่มีการสอนเนื้อหาโดยใช้ทั้งสองภาษา (L1 & L2) ก็จะเรียนเป็น Dual immersion หรือ two-way immersion ค่ะ
อันที่จริงเราก็ผ่านการเรียนภาษาอังกฤษมากแบบนี้เหมือนกันนะคะเนี่ย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าโอกาสในการใช้ลดลง ก็เริ่มจะศูนย์เสียความรู้ที่เคยมีไปเสียแล้ว แง้
ทั้งนี้ก็มีวิธีการสอนที่คล้ายๆกัน ชื่อ content-based instruction (CBI) หรือ content-based language teaching (CBLT) ต่างกันที่ผู้สอนจะมีการปรับภาษาที่ใช้อธิบายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ หรือก็คือให้ input แบบ i+1 นี่เอง
----------
2. Natural Approach
แนวการสอนนี้ถือได้ว่าเป็นแนวทางการสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Input Hypothesis โดยตรงเลยก็ว่าได้ Stephen Krashen และ Terrell ผู้คิดค้นวิธีสอนนี้ เชื่อว่าการสื่อสารเป็นเป้าหมายหลักในการทำหน้าที่ของภาษา ดังนั้นการสอนโดยวิธีนี้จะเน้นไปที่การสอนทักษะการสื่อสารนั้นเอง โดยภาพรวมหลักของการสอนภาษาและการเรียนรู้ภาษาของผู้เรียนจะถูกเน้นไปที่ “ความหมาย” เป็นหลัก
โดยจะให้ input ผ่านการฟังและการอ่านในชั้นเรียนเป็นหลัก ผู้สอนจะใช้ภาษาที่สองในชั้นเรียนโดยจะปรับให้การใช้ภาษาของตนเหมาะสมกับระดับของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ (input hypothesis; i+1) ในการเรียนจะไม่เน้นการอธิบายไวยากรณ์และไม่มีการฝึกฝนการพูดหรือเขียน เน้นการให้ input ที่เข้าใจได้เป็นหลัก เพื่อให้ผู้เรียนไม่เครียด รู้สึกผ่อนคลายในการเรียน (affective filter) ถึงแม้จะไม่ได้บังคับให้ผู้เรียน output ออกมาให้ได้เลยแต่ถ้าผู้เรียน output ออกมาเองก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้การเรียนภาษาแบบนี้ก็เป็นระดับที่ผู้เรียนรู้ตัว ผู้เรียนจึงสามารถเช็คสิ่งที่ตัวเองสื่อสารออกมาว่าถูกหรือผิดได้ (monitor hypothesis)
----------
3.Total physical response (TPR)
และสุดท้าย ก็คือ Total physical response (TPR) นำเสนอโดย James Asher อาจารย์ด้านจิตวิทยา โดยจะเน้นให้ผู้เรียนฟัง ดู และปฏิบัติ แนวการสอนนี้ก็จะไม่บังคับให้ผู้เรียนพูดจนกว่าผู้เรียนอยากจะพูดออกมาเอง
ตัวอย่างวิธีการสอนแบบ TPR
ก่อนอื่นผู้สอนจะให้คำศัพท์ที่เป็น input ให้แก่ผู้เรียนก่อน เช่น ในวิดีโอนี้ เป็น "รถยนต์ ตุ๊กตาหมี"
ผู้เรียนจะฟัง ผู้สอนอาจจะแสดงความหมายของคำศัพท์ด้วยใช้รูปภาพแสดงให้ผู้เรียนดูด้วย ซึ่งการป้อนข้อมูลเช่นนี้ก็จะมีความคล้ายคลึงกับ Natural Approach แต่ต่างกันตรงที่หลังจากที่ผู้เรียนเข้าใจความหมายของคำศัพท์แล้ว ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนแสดงการตอบสนองผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายหรือด้วยการกระทำด้วย
การสอนแนวนี้เป็นการสอนที่เน้น input และให้ผู้เรียนเข้าใจ input ผ่านการตอบสนองด้วยการกระทำเมื่อเข้าใจความหมาย โดย Asher นำความคิดเรื่องการรักภาษาของเด็กมาปรับใช้ เนื่องจากเขาสังเกตเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ของแม่และเด็กมักเป็นคำสั่งของแม่ให้เด็กทำอะไรสักอย่าง นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าการเรียนรู้ภาษาต้องไม่อยู่ในภาวะเครียด เขาจังเสนอว่าควรรอให้ผู้เรียนอยากพูดออกมาเอง ซึ่งก็มีความสอดคล้องกับ Affective Filter Hypothesis
จริงเราก็ค่อนข้างชอบแนวทางการสอนแบบนี้นะคะ
จริง ๆ เหตุผลที่ชอบที่สุดคือรู้สึกไม่เครียดน่ะค่ะ 555555555
มันรู้สึกกดดันถ้าหากเราต้องถูก forced ให้ output ออกมา
(แต่อย่างไรก็ตาม anxiety ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลลบทางการเรียนรู้เสมอไปนะคะ)
อ้อ แล้วก็ก่อนหน้านี้อ่านบล็อกของพี่มายด์มา
ก็ชอบการนำ TPR ไปใช้สอนภาษาญี่ปุ่น กริยา 貸す・借りる ได้ด้วย
ซึ่งเราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าเวิร์คดีเหมือนกัน ถ้าจะไปสอนพิเศษคงต้องขอยืมไปใช้บ้างเสียแล้ว!!
หากสนใจลองไปอ่านดูได้นะคะ ! จิ้มตรงนี้
แต่
แต่
แต่
ทั้งนี้
แนวการสอนแบบเน้น input เองก็มีข้อเสียเหมือนกัน
ก็คือตรงที่ไม่ได้เน้น output นี่แหละค่ะ
การที่เราได้ input ที่เข้าใจได้มากมาย แต่ถ้าไม่ได้ exercise มันสักเท่าไร
ก็อาจจะไม่ได้พัฒนาทักษะบางด้านด้วย เช่น การพูด หรือ การเขียน
เพราะฉะนั้นก็คิดว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้อง output
ทำให้สมดุลกันระหว่าง input และ output
ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ดีค่า เย้
สำหรับบล็อกครั้งนี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้
ขอบคุณค่า
แล้วเจอกันใหม่ค่า
การสรุปทีละประโยค ขึ้นบรรทัดใหม่เสมอ ทำให้ผู้อ่านไม่เหนื่อยและทำให้อยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ ชอบรูปน่ารักประกอบด้วยค่ะ
ตอบลบถ้าอยากเรียนแนวนี้ต้องติดต่อที่ไหนครับ
ตอบลบ